วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รีวิว Samsung Galaxy S II

Galaxy S II

Samsung Galaxy S II เป็นหนึ่งในมือถือที่กำลังมาแรงที่สุดในเมืองไทยตอนนี้ (ทั้งสเปคและราคา) หลังจากมีข่าวเปิดให้จับจองในงาน Thailand Mobile Expo ที่จะถึงนี้ (ข่าวเก่า) เราลองมาดูรายละเอียดแบบเจาะลึกกันดีกว่าครับว่ามือถือรุ่นนี้มันน่าใช้จริงเหมือนข่าวลือหรือไม่

 สเปค
  • ระบบปฏิบัติการ Android 2.3 (Gingerbread)
  • ซีพียู Samsung Exynos 4210 1.2 GHz Dual-Core ARM Cortex-A9
  • ชิปกราฟฟิค Mali-400 MP
  • จอภาพ Super AMOLED Plus ความละเอียด 800 x 480 พิกเซล
  • หน่วยความจำ RAM 1 GB
  • ความจุ 16 GB, สามารถใส่ microSD เพิ่มได้อีก 32 GB
  • กล้องหลัง 8 MP พร้อมแฟลช LED, กล้องหน้า 2 MP
  • ความถี่ 3G HSPA+ ความถี่ 850, 900, 1900, 2100 MHz
  • การเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11n (2.4/5 GHz), Wi-Fi Direct, Bluetooth 3.0, micro-USB (OTG)
  • ช่องเสียบหูฟัง 3.5 ม.ม., วิทยุ FM
  • เซ็นเซอร์ มีทุกตัวที่มือถือเครื่องอื่นมี รวมถึง Gyroscope และ A-GPS
  • น้ำหนัก 116 กรัม, หนา 8.49 ม.ม., แบตเตอรี่ 1650 mAh

ฮาร์ดแวร์

ภายนอก

การออกแบบภายนอกของรุ่นนี้ยังคงแนวคิดเดิมคือด้านหน้าแบนราบ ส่วนหลังเครื่องด้านล่างนูนขึ้นมาเล็กน้อย โดยชูจุดเด่นเรื่องน้ำหนักและความหนาเพียง 8.49 ม.ม. (ไอโฟน 4 หนา 9.3 ม.ม.)
ปุ่ม Power, Volume Up, Volume Down และรูร้อยสายคล้องคอ ยังคงอยู่ข้างเครื่องเหมือนเดิม
ช่องเสียบหูฟัง 3.5 ม.ม. อยู่ด้านบนเหมือนเดิม แต่พอร์ต micro-USB ถูกย้ายมาข้างล่างและไม่มีฝาปิดเหมือนรุ่นก่อน
ภายในเครื่องเปลี่ยนไปเล็กน้อย โดยช่องใส่การ์ด microSD ต้องถอดแบตเตอรี่ก่อนถึงจะถอดหรือใส่การ์ดได้ แต่ช่องใส่ซิมกลับสามารถถอดเปลี่ยนได้ทันที (แต่ก็ต้องรีบูทเครื่องอยู่ดี ไม่งั้นใช้ไม่ได้ UPDATE: ใช้วิธีกดเปิด-ปิด Airplane Mode แทนได้ครับ)
ฝาหลังทำจากพลาสติกแบบอ่อน ตอนแกะครั้งแรกกลัวว่ามันจะหัก แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับสามารถงอเล่นได้สบายมาก
น้ำหนักของ Galaxy S II เบากว่าที่เห็นภายนอกมากๆ (ตอนจับครั้งแรกนึกว่าไม่ได้ใส่แบตเตอรี่ไว้) อันนี้แล้วแต่ความชอบครับ บางคนอาจจะมองว่าน้ำหนักเบาแล้ววัสดุต้องห่วย แต่โดยส่วนตัวผมชอบน้ำหนักเบาๆ แบบนี้มากกว่า

ซีพียูและชิปกราฟฟิค

Galaxy S II รุ่นที่ขายในไทยเป็นรุ่นรหัส GT-I9100 ซึ่งใช้ซีพียู Exynos 4210 ของซัมซุง (ชื่อเก่าคือ Samsung Orion) ซึ่งเป็นซีพียู Dual-Core ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARM Cortex-A9 ทำงานที่ความถี่ 1.2 GHz และใช้ชิปกราฟฟิค Mali-400 MP ของ ARM
ซัมซุงเคลมว่าซีพียู Exynos 4210 แรงกว่าซีพียู Tegra 2 ของ nVidia ซึ่งผมเองก็ไม่มีเครื่องที่ใช้ Tegra 2 ให้ลอง ดังนั้นลองดู benchmark กันเองดีกว่าครับ (12)

จอ Super AMOLED Plus

ก่อนอื่นถ้ายังไม่รู้จักจอ Super AMOLED ลองดูวิดีโออธิบายจากซัมซุงครับ
(แถมอีกอัน AMOLED เหมือนกัน)
จอ Super AMOLED Plus พัฒนาจากจอ Super AMOLED โดยเปลี่ยนวิธีการเรียงเม็ดสีจากแบบ PenTile มาเป็นการเรียงแบบ RGB ตามปกติ ทำให้จำนวน พิกเซลย่อยเพิ่มขึ้นจาก 8 พิกเซลต่อจุดเป็น 12 พิกเซลต่อจุด ช่วยให้ภาพออกมาคมชัดขึ้นกว่าเดิมครับ

กล้องถ่ายรูป

กล้องหลัง 8 MP ของ Galaxy S II นั้นดีกว่าที่ผมคิดไว้พอสมควร อันนี้แนะนำให้ดูด้วยตาตัวเองดีกว่า ลองดูตัวอย่างภาพจากกล้องได้ท้ายข่าวครับ นอกจากนั้นกล้องหลังยังสามารถบันทึกวิดีโอ Full HD ความละเอียด 1080p ที่ 30 เฟรม/วินาทีได้ด้วย
กล้องหน้าก็เหมือนทั่วไป เป็น fixed-focus แต่มีความละเอียด 2 MP ซึ่งมากกว่า Galaxy S รุ่นเดิมที่ถ่ายได้แค่ 0.3 MP (VGA) ความละเอียดระดับนี้เรียกได้ว่าเหลือเฟือสำหรับวิดิโอคอลหรือถ่ายรูปตัวเองลงเฟซบุ๊คครับ

มัลติทัช

จอสัมผัสของ Galaxy S II สามารถรับจุดสัมผัสได้พร้อมกันถึง 10 จุด (ลองดูรูปประกอบได้ครับ) แต่จำนวนจุดที่แม่นจริงๆ อยู่ที่ 5 จุด ถ้าเกินกว่านั้นพบว่าบางจังหวะจะมีปัญหาจุดไม่ขึ้น แต่ผมคิดว่าคงไม่ค่อยมีคนใช้จุดสัมผัสเกิน 5 จุดอยู่แล้วครับ

ความถี่ 3G ที่รองรับ

เครื่องที่ขายในไทยแบ่งออกเป็น 2 รุ่นคือ GT-I9100 และ GT-I9100T ครับ โดยรุ่นแรกจะรองรับความถี่ 3G ของ AIS (900 MHz) ส่วนรุ่นหลังรองรับ 3G ของ dtac และ Truemove (850 MHz)
ทางซัมซุงให้ข้อมูลว่า ที่จริงแล้วตัวเครื่อง Galaxy S II นั้นผลิตออกมาเป็นตัวเดียวกันหมด แต่มีการจูนพารามิเตอร์ต่างๆ ในระดับซอฟต์แวร์เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดกับคลื่นความถี่นั้นๆ จึงต้องวางขายแยกออกเป็น 2 รุ่น
อย่างไรก็ตามถ้าผู้ใช้อยากเปลี่ยนคลื่นความถี่ที่ใช้งาน สามารถทำได้โดยกด *#2263# (อ่านว่า *#BAND#) จากโปรแกรมโทรศัพท์และเข้าไปเลือกคลื่นที่ต้องการครับ
หมายเหตุ: เครื่องที่รีวิวเป็นรุ่น GT-I9100T ซึ่งรองรับความถี่ 850 MHz (Truemove และ dtac) ผมได้ลองเปิดความถี่ 900 MHz แล้วลองสแกนคลื่นดู ผลคือพบเครือข่าย TH GSM ครับ แต่ลองต่อไม่สำเร็จเพราะผมไม่มีซิม AIS/1-2-call

GPS และ Lagfix

คำถามที่หลายคนถามกันมากคือ GPS ยังมีปัญหาจับสัญญาณไม่ค่อยได้เหมือนรุ่นก่อนหรือไม่ คำตอบคือไม่มีแล้วครับ จากการทดลองพบว่าสามารถจับ A-GPS ในอาคารไม้ชั้นเดียวได้ภายใน 5 วินาที (อันที่จริง Galaxy S รุ่นเก่า หลังจากอัพ 2.3 ก็ไม่มีปัญหานี้แล้วเหมือนกันครับ)
อีกเรื่องคือปัญหา lag ที่พบใน Galaxy S รุ่นเก่าอันเนื่องมาจากการใช้ RFS ซึ่งเป็น file system ที่มีปัญหากับการเขียนข้อมูลพร้อมกันหลายเธรด ทำให้เครื่องเกิดอาการค้างเป็นระยะๆ ปัญหาดังกล่าวถูกแก้ใน Galaxy S II แล้วโดยการเลิกใช้ RFS และเปลี่ยนมาใช้ Ext4 ซึ่งไม่มีปัญหาที่กล่าวมาแม้แต่น้อย

ซอฟต์แวร์

TouchWiz UI 4.0

Samsung Galaxy S II ล๊อตแรกติดตั้ง Android 2.3.3 มาจากโรงงาน (Android รุ่นล่าสุดสำหรับมือถือ ณ ตอนนี้อยู่ที่ 2.3.4) พร้อมกับ TouchWiz UI 4.0 ซึ่งเป็น home screen ที่ออกแบบโดยซัมซุงเอง
 
 

Samsung Hub

นอกจากนั้น ยังมีโปรแกรมตระกูล Hub ของซัมซุงอีก 4 ตัวคือ
  • Music Hub ไม่รู้ไว้ทำอะไร รู้แต่มันใช้ในประเทศไทยไม่ได้
  • Games Hub มีเกมให้เล่น โดยเกมที่โหลดมาจะอยู่ใน Games Hub เท่านั้น ไม่ได้เป็นแอพที่รันได้ตามปกติ
  • Readers Hub ไว้อ่าน E-Book
  • Social Hub เป็นโปรแกรมสำหรับรวม Email, IM และ Social เข้าด้วยกัน
 
 

Motion

Motion เป็นฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นมา โดยสามารถใช้การขยับเครื่องเข้า-ออก เอียงซ้าย-ขวา สำหรับสั่งงานบางอย่างได้ ลองดูวิดีโอประกอบได้ครับ
 

Power Save Mode

โหมดประหยัดพลังงาน เป็นอีกฟีเจอร์ที่เพิ่มมาใน Galaxy S II ครับ โดยสามารถใช้เปิดปิดพวกการเชื่อมต่อต่างๆ อัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่เหลือน้อยกว่าที่เรากำหนดไว้
 

Kies Air

Kies Air เป็นโปรแกรมจัดการไฟล์ในมือถือแนวใหม่ โดยตัวโปรแกรมจะรันเป็น web server อยู่ในมือถือ ที่เราต้องทำก็คือเปิด browser แล้วเข้า http://ip-มือถือ:8080 ทางฝั่งมือถือจะขึ้นให้ยืนยันก่อนเพื่อความปลอดภัย จากนั้นเราก็สามารถจัดการมือถือได้เหมือนกับเวลาต่อโปรแกรม Kies เลยครับ

Benchmark

ผลการทดสอบจากโปรแกรม Quadrant, Linpack และ Neocore ครับ
 
 
เล่นวิดีโอ Full HD ความละเอียด 1080p สบายมาก

ตัวอย่างรูปจากกล้อง

ภาพต่อไปนี้ทั้งหมดถ่ายจากกล้องของ Galaxy S II โดยไม่ได้ตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้นครับ ถ้าสนใจเรื่องความละเอียดของกล้อง สามารถคลิกเข้าไปดูภาพต้นฉบับขนาด 8 MP ได้ครับ

กล้องหลัง

กล้องหน้า

ภาพที่เหลือสามารถดูต่อได้ที่ Flickr ครับ (4 รูปสุดท้ายมาจากกล้องหน้า)

สรุป

ข้อดี

  • รองรับ 3G ทุกคลื่น
  • ใช้ Wi-Fi ได้ทั้ง 2.4 GHz และ 5 GHz
  • มี Wi-Fi Direct
  • มี USB OTG
  • กล้องหลังชัดมาก
  • น้ำหนักเบา

ข้อเสีย

  • น้ำหนักเบา
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณซัมซุงประเทศไทยที่ให้ยืมเครื่องมารีวิวครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น